ข่าวประชาสัมพันธ์
สำนักการแพทย์
514 ถนนหลวง เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพมหานคร 10100
โทร 0 2622 5047 โทรสาร 0 2224 2969

Description: D:\พี่จ๋า(พรเพ็ญ)\Bangkok Health Fair\Bangkok Health Fair 2010\BHF 2010 - 1 ต.ค. 53 - 2\BHFอื่นๆ\logo ทั้งชีวิต...เราดูแล\Logo ทั้งชีวิต เราดูแล.jpg
นิมิบุตรถล่ม เอราวัณซ้อมแผนเผชิญเหตุสาธารณภัย
  

วันที่ 4 ก.ย. 56 เวลา 14.00 น. นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดการซ้อมแผนปฏิบัติการทางการแพทย์ในเหตุสาธารณภัย จัดโดย ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ณ หน้าอาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยมี นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.สามารถ ตันอริยกุล ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และคณะผู้บริหารในสังกัด ให้การต้อนรับ

เป็นครั้งแรกสำหรับความร่วมมือในการซ้อมแผนฯ ด้านการแพทย์ และกีฬา ระหว่าง สำนักการแพทย์และกรมพลศึกษา แล้วยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมซ้อมอีก ได้แก่ โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักโยธา สถานีดับเพลิงบรรทัดทอง สถานีดับเพลิง สำนักงานเขตปทุมวัน สำนักเทศกิจ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลหัวเฉียว มูลนิธิปอเต็กตึ้ง มูลนิธิร่วมกตัญญู และโรงพยาบาลภาครัฐ เอกชน เครือข่ายในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมซ้อมแผนสาธารณภัยกว่า 400 คน เพื่อเป็นการทำงานบูรณาการร่วมกัน

นพ.พีระพงษ์ กล่าวว่า สาธารณภัยทั้งภัยขนาดใหญ่และภัยขนาดเล็ก ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ต่างทำให้เกิดความเสียหายและการสูญเสียต่อทรัพย์สิน ตลอดจนความปลอดภัยในสวัสดิภาพของประชาชนอย่างรุนแรง และในการปฏิบัติการเผชิญเหตุในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีหน่วยงาน และบุคลากรจำนวนมากจากหลากหลายสังกัดเข้าปฏิบัติการในพื้นที่จริง ทำให้เกิดความวุ่นวายสับสน การประสานงานขาดประสิทธิภาพ ขาดความร่วมมือและการปฏิบัติการที่เอื้อประโยชน์ต่อกันในสถานการณ์จริง ไม่สามารถบรรลุประโยชน์เท่าที่ควรหรืออาจเกิดความไม่สอดคล้องกันในทางปฏิบัติการได้ สถิติของสำนักสถิติกรุงเทพมหานคร พบว่าปี 2555 กทม. มีสาธารณภัยเกิดขึ้น 4,065 ครั้ง แยกเป็นไฟไหม้ 4,036 วาตภัย 21 ครั้งสารเคมีและสารอันตราย 3 ครั้ง และอาคารทรุด อาคารถล่ม 3 ครั้ง รวม 4,065 ครั้ง ซึ่งแต่ละเหตุก่อให้เกิดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และรุนแรงขึ้น การซ้อมแผนปฏิบัติการจะทำให้เจ้าหน้าที่ มีความพร้อม และลดอัตราความสูญเสียได้มาก กรุงเทพมหานครโดยสำนักการแพทย์ ได้พยายามที่จะพัฒนาสาธารณภัย โดยจัดให้มีการซ้อมแผนปฏิบัติการให้เหตุสาธารณภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจและทำให้เกิดทักษะในการปฏิบัติการเผชิญเหตุ รวมทั้งช่องทางในการเอื้อประโยชน์ต่อกันในการปฏิบัติการ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในปีงบประมาณ 2556 ได้กำหนดการจำลองเหตุการณ์อัฒจันทร์ อาคารนิมิตบุตร ภายในสนามกีฬาแห่งชาติถล่ม ขณะที่ประชาชนแข่งขันฟุตบอลอยู่ภายในอาคาร 200 คน มีผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์ดังกล่าวจำนวน 50 คน
          นพ.สามารถ กล่าวว่า สำนักการแพทย์ให้ความสำคัญกับการรับมือและจัดการเหตุสาธารณภัยทุกประเภทที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เพื่อลดความสูญเสียของผู้เจ็บป่วย โดยเน้นย้ำกับบุคคลากรทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยขึ้น จะต้องทำงานสอดประสานกันอย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์หรือด้านการกู้ภัย ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือผู้มาเยือนมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และมาตรฐาน ดังนั้น การซ้อมแผนเผชิญเหตุร่วมกันจึงถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะไม่เพียงเจ้าหน้าที่จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และทดลองความพร้อมของเครื่องไม้เครื่องมือร่วมกัน ยังเป็นการสะท้อนปัญหาและอุปสรรคในกาทำงาน เพื่อให้ฝ่ายบริหารได้ใช้เป็นแนวทางในการวางแผนแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่น่าเที่ยวในสายตาคนทั่วโลกตลอดไป

นพ.เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผอ.ศูนย์เอราวัณ ยอมรับว่า ทุกวันนี้เหตุสาธารณภัยในเมืองหลวงที่มีประชากรเกือบ 10 ล้านคน เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ละครั้งก็มีความรุนแรงมากกว่าในอดีต เนื่องจากการกระจุกตัวของประชากรและการก่อสร้างอาคารสูงระฟ้า ทำให้การเข้าถึงผู้เจ็บป่วยในยามฉุกเฉินทำได้ยากขึ้น จึงจำเป็นที่ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลทั้ง 9 โซน 48 แห่ง รวมทั้งเครือข่ายประกอบด้วยมูลนิธิต่างๆ 8 แห่ง ที่รับผิดชอบโดยตรงด้านการแพทย์ ต้องฝึกซ้อมเผชิญเหตุสาธารณภัยร่วมกัน เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียระหว่างเกิดเหตุให้ได้มากที่สุด นอกจากจำนวนคนเพิ่มมากขึ้น อาคารสูงระฟ้าจะหนาแน่แล้ว กทม.ยังมีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนปีละเกือบ 20 ล้านคน ทั้งมาเที่ยวโดยตรงและมาชมการแข่งขันกีฬาหลากหลายประเภท โดยเฉพาะฟุตบอล ซึ่งมีนักเตะดังๆจากหลายชาติมาทำการแข่งขันในประเทศมากขึ้น จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มาเยือนว่าหากเกิดกรณีฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ตึกถล่ม ศูนย์เอราวัณก็มีแผนรองรับและจัดการปัญหาอย่างมืออาชีพ บนมาตรฐานสากล
          ในการซ้อมแผนฯ ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนใกล้เคียงสนามกีฬาแห่งชาติ ตลอดจนสำนักงานเขต เข้าร่วมสังเกตการณ์ซ้อมฯ จึงทำให้การซ้อมแผนฯ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างสูง